กัมบัตเตะ!
ผมเป็นคนที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยว การไปแคมปิ้ง สังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อน ๆ และยังชอบการอ่านหนังสืออีกด้วย รอบนี้เลยมีหนังสือเล่มนึงที่อ่านหน้าปกแล้วรู้สึกสะดุดตา สะกิดใจ แล้วพอยิ่งได้ลองอ่านเนื้อหา ยิ่งรู้สึกได้ว่าเป็นหนังสือที่ประทับใจไม่น้อยเล่มนึงเลยทีเดียว แถมยังอ่านง่ายไม่หนักหัวอีกด้วย เลยอยากจะนำมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปหาอ่านดูกันบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์ช่วยจุดประกายความคิด หรือในแง่มุมใดมุมหนึ่ง ในการใช้ชิวิตต่อไป
หนังสือที่ว่า มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า กัมบัตเตะ! (GANBATTE!) ผู้เขียนชื่อ คุณโนบูโอะ ซูซูกิ แปลโดย คุณเขมลักษณ์ ดีประวัติ โดยใช้ชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยว่า “ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง” ของสำนักพิมพ์ในเครืออัมรินทร์
เรื่องราวในหนังสือเป็นการนำเราให้ไปรู้จักกับปรัชญาเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่นในการดำเนินชีวิต ที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ผ่านคำว่า “กัมบัตเตะ” ที่ไม่ใช่แค่คำให้กำลังใจที่เราคุ้นเคย แต่ยังสามารถที่จะชี้ให้เห็นวิถีชีวิต แนวทางการขัดเกลาจิตใจให้แข็งแกร่ง เพื่อจะก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ที่เป็นบททดสอบในชีวิตของเราที่ผ่านเข้ามามากมาย หนังสือจะแบ่งเป็นตอน ๆ ที่มีการให้แง่คิดแตกต่างกันไป ในแต่ละตอน ๆ
กัมบัตเตะ! คำนี้แปลว่า “พยายามทำดีที่สุด เท่าที่ตนเองจะทำได้เสมอ”
มันคือปรัชญา! ที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น เราจะได้มาเรียนรู้กันจากการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยกันนะครับ
ผมจะลองยกตัวอย่างมาสักตอนนึงจากหลาย ๆ ตอนในหนังสือ ที่ผมอ่านแล้วรู้สึกชื่นชอบ ตอนที่ว่านั้นคือ
ตอน...กฎกัมบัตเตะ! สิบข้อสำหรับเจ้าของธุรกิจ
ในหนังสือ ผู้แต่งกล่าวไว้ว่า เจ้าของธุรกิจคือผู้คิดริเริ่มและเดินก้าวแรก ในขณะที่คนอื่น ๆ นั้นมัวแต่พูด เจ้าของธุรกิจคือ คนที่ไม่ยอมแพ้เมื่อเจอปัญหา และเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ
ผู้เขียน ยกตัวอย่างในเรื่องการออกกำลังกายก็เช่นเดียวกัน คนที่เฉื่อยชาจะวางแผนสำหรับอนาคต คิดถึงวิธีการดูแลตนเองว่าเริ่มต้นจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอาหาร ออกกำลังกาย และเข้ายิม แต่....จะปล่อยให้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ ที่ไม่เคยมาถึงสักที ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่มีกรอบความคิดแบบเจ้าของธุรกิจ ที่จะเริ่มต้นทำทันที
หนังสือได้แนะนำกฎกัมบัตเตะสิบข้อ เพื่อเป็นแนวทาง ซึ่งกฎเหล่านี้คือ
1.ลงมือทำ
เลิกครุ่นคิดแล้วลงมือทำ เจ้าของธุรกิจมักชอบทำและคว้าโอกาสใหม่ ๆ จงเป็นผู้ริเริ่ม ทำตอนนี้เลย อย่ารอพรุ่งนี้
2.แม้ไม่มีประสบการณ์เลย ก็จงเริ่มต้น ยังมีเวลาเรียนรู้ขณะลงมือทำ
เจ้าของธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มากมายก็ไม่พร้อมมาก่อนเหมือนกันในตอนแรก เวลาเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาถ้าจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้นเลย ทุกคนล้วนเริ่มต้นมีก้าวแรกเสมอ
3.การทำผิดคือการเรียนรู้
อย่าท้อใจเมื่อเจออุปสรรค การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ จงมองความผิดพลาดในแง่ของประโยชน์ จงสั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้จากความผิดพลาดต่าง ๆ และจงเป็นที่คนที่กล้าทำผิดพลาดโดยไม่ยอมถอดใจยอมแพ้
4.จงแน่วแน่ แต่ยืดหยุ่นได้
รู้จักการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เรียนรู้ และแก้ไขจากความผิดพลาด เพื่อให้ความพากเพียรและแน่วแน่พาเราก้าวไปข้างหน้า
5.ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ดีที่สุด
แม้จะทำสิ่งที่เรียบง่าย หรือเรื่องพื้น ๆ ก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ที่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด
6.แวดล้อมด้วยคนที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกัน
ผู้คนที่เดินตามแสงสว่างนำทางแบบเดียวกับเรา มีแนวโน้มที่จะเดินเคียงข้างกันไป เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
7.อย่าหยุดเรียนรู้
อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหนก็ตาม จงเป็นคนช่างสงสัย ช่างสังเกต และเปิดใจกว้างสำหรับแนวความคิด ไอเดียใหม่ ๆ เสมอ
8.อดทนรอคอย
ความสำเร็จ และผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แต่จะเกิดหลังจากการทุ่มเท พยายาม และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
9.ให้โลกเห็นโครงการของคุณ
เราต้องแสดงให้เห็นโครงการของเราให้โลกได้รับรู้ เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันจะช่วยให้เราสามารถรับฟังความคิด ความเห็น คำติชม จากลูกค้า ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
10.ฟังหัวใจตัวเอง
จงฟังหัวใจของตนเอง มันคือผลงานสร้างสรรค์ของเรา มันคือสิ่งที่เราทำ ถ้าไม่แน่ใจ หัวใจจะบอกเราเอง (อันนี้เข้าใจยากนิดนึง มีแอบมู)
ในหนังสือเล่มนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ ตอนที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยชี้ให้เราเห็นปรัชญาการดำเนินชีวิต ในหลากหลายแนวทาง สอดคล้องกับแนวคิดและรูปแบบของ กัมบัตเตะ! คือทำให้ดีที่สุด และอย่ายอมแพ้ นอกจากนั้นยังช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า บางสิ่งที่อาจจะดูยากลำบากในตอนตอนแรก ๆ ถ้าเราเพียรพยายามนานมากพอ ย่อมจะควบคุมได้ไม่ยาก หรือแม้จะล้มสักกี่ครั้ง ถ้ายังลุกขึ้นได้ในครั้งต่อไป ย่อมสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด เหมือนกับชื่อหนังสือที่ว่า ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง...กัมบัตเตะ!
ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมกันได้นะครับ แนะนำ ๆ !!!
บทความโดย กรมธรรม์ สุวรรณโมลี
บริษัท ซิมมิก อินดัสทรี จำกัด
“เรื่องคุณภาพ Hand Formers มั่นใจใน Zymmic”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากหนังสือ กัมบัตเตะ! “ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง” ผู้เขียน โนบูโอะ ซูซูกิ แปลโดย เขมลักษณ์ ดีประวัติ
24 ธันวาคม 2565
ผู้ชม 757 ครั้ง